หากพูดถึงเหรียญคริปโต การพูดถึง Bitcoin หรือ Ethereum อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าตื่นเต้นอีกแล้ว เพราะทั้งสองต่างก็เป็นเหรียญที่ใคร ๆ รู้จักดี หรือหากไม่รู้จักก็ยังสามารถค้นหาข้อมูลได้ง่ายจากการที่คนมักพูดถึงอยู่บ่อย ๆ แต่นอกจาก Bitcoin และ Ethereum แล้ว ตลาดสกุลเงินดิจิทัลยังมีเหรียญที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยเฉพาะ Ripple หรือ XRP ที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากนัก แต่ก็เป็นเหรียญที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมการเงินได้ คราวนี้เราจึงจะมาชวนเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักว่า Ripple (XRP) คืออะไร หาคำตอบได้ในบทความนี้เลย
Ripple เป็นบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินเจ้าของเครือข่าย Ripple Net – แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศที่อยู่บนฐานข้อมูล XRP Ledger ซึ่งเครือข่ายนี้สามารถใช้ถ่ายโอนทรัพย์สินระหว่างผู้โอนและผู้รับโอนได้อย่างรวดเร็วและน่าเชื่อถือ และยังสามารถใช้โอนสินทรัพย์ได้หลากหลายชนิด ไม่เพียงแค่สกุลเงินเฟียต แต่ยังใช้โอนสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin หรือแม้แต่สินค้าโภคภัณฑ์เช่น ทองคำ ได้ด้วย
แรกเริ่ม Ripple Net ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเข้ามาแข่งขันกับระบบเครือข่ายการโอนเงินข้ามประเทศที่เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้วอย่าง SWIFT ที่เดิมมีปัญหาด้านความเร็วในการทำธุรกรรมและค่าธรรมเนียมที่มีราคาแพง โดย Ripple Net ได้ชื่อว่าเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินระหว่างประเทศแบบ การชำระเงินแบบเรียลไทม์ (Real-Time Gross Settlement; RTGS) ที่สามารถใช้โอนเงินหรือสินทรัพย์ได้แบบเรียลไทม์ทั่วโลก ขณะที่มีการคิดค่าธรรมเนียมในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมมาก
ในอีกมุมหนึ่ง Ripple Net ได้เข้ามาแทนที่ตัวกลางการชำระราคาระหว่างสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ทำธุรกรรมอยู่ทั่วโลกเช่นเดียวกัน ปัจจุบัน Ripple จึงจับมือกับธนาคารและสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลกเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรในอุตสาหกรรม และในปัจจุบัน Ripple ก็มีธนาคารและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ให้ความร่วมมือแล้วกว่าร้อยแห่ง เช่น Bank of America, Standard Chartered, Santander, Moneynetint, CIMB Bank, MIZUHO, ธนาคารไทยพานิชย์ และ Nium
สำหรับ XRP คือสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้อยู่บนเครือข่าย Ripple Net ซึ่ง XRP ก็ถูกออกแบบมาให้แตกต่างจากเหรียญคริปโตอื่น ๆ ในท้องตลาดโดยเฉพาะ Bitcoin นั่นคือ XRP จะเน้นเรื่องการใช้สำหรับชำระ/โอนสินทรัพย์ข้ามประเทศด้วยราคาค่าธรรมเนียมที่ถูกและรวดเร็วเป็นหลัก
อย่างไรก็ดีเครือข่ายการชำระเงินของ XRP ไม่ได้อนุญาตให้มีการขุดเพื่อยืนยันและบันทึกข้อมูลธุรกรรมลงในเครือข่าย ซึ่งแตกต่างจากเหรียญคริปโตอื่น ๆ ในตลาดที่มักเปิดให้ผู้ใช้ใดก็ตามที่ยืนยันเข้ามาเป็นหน่วยหนึ่งในเครือข่ายสามารถเข้ามาร่วมตรวจสอบการทำธุรกรรมและได้เหรียญเป็นรางวัล แต่สำหรับ XRP Ledger นั้นไม่ เพราะ XRP Ledger จะยอมให้เฉพาะสมาชิกที่ได้รับความเชื่อถือ (Trusted Validators) เข้ามาสร้างฉันทามติและยืนยันธุรกรรมที่เกิดขึ้นในเครือข่ายได้ ซึ่งโหนดเหล่านี้มักถูกเรียกว่า Unique Node List หรือ UNL
และด้วยเหตุนี้ทำให้เครือข่ายของ XRP Ledger จึงค่อนข้างมีความรวมศูนย์ (Centralized) และไม่ได้เปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมตรวจสอบการทำงานของเครือข่าย ซึ่งแตกต่างจากบล็อกเชนอื่นที่มักเป็นแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) แต่ระบบนี้ก็ช่วยให้ระบบมีความปลอดภัยจากการแทรกแซงจากภายนอกได้มากขึ้น
นอกจากนี้ขณะที่เหรียญคริปโตอื่น ๆ สามารถเพิ่มจำนวนเข้ามาในระบบได้จากการขุด แต่สำหรับ XRP นั้นจะมีการสร้างเหรียญเอาไว้ในจำนวนจำกัดที่ 100,000,000,000 XRP ตั้งแต่ต้น โดยแรกเริ่ม Ripple จะเป็นผู้ถือเหรียญ 80% ของจำนวนเหรียญทั้งหมดแล้วค่อย ๆ ปล่อยเข้าสู่ระบบเพื่อรักษาเสถียรภาพของเครือข่าย ปัจจุบันมีการนำเหรียญออกมาหมุนเวียนแล้วราว 47.25% ของปริมาณเหรียญทั้งหมด แต่จำนวนเหรียญ XRP ทั้งหมดในระบบก็เหลือเพียง 99,990,075,944 XRP เนื่องจากทุก ๆ ธุรกรรมที่เกิดขึ้นจะมีการเบิร์นเหรียญออกไปจากระบบด้วย
โดยสรุปแล้ว Ripple ก็คือเครือข่ายทางการเงินที่รองรับการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ เช่น การโอนเงิน/ โอนสินทรัพย์ข้ามประเทศที่ตอบสนองต่อความต้องการในอุตสาหกรรมการเงิน ขณะที่ XRP ก็คือเหรียญที่ใช้อยู่บนเครือข่าย Ripple Net แต่โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง Ripple เราก็มักจะหมายถึงเหรียญที่ใช้อยู่บนเครือข่าย Ripple Net หรือ XRP นั่นเอง
ก่อนจะไปถึงการทำงานของ Ripple เราลองมาดูกันก่อนว่าระบบโอนเงินข้ามประเทศแต่เดิมนั้นเต็มไปด้วยความไม่มีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง
☆ ตัวอย่าง ☆
การโอนเงินจากธนาคาร A ไปธนาคาร B ที่อยู่ในประเทศอีกฟากหนึ่งของโลก ธนาคาร A และ ธนาคาร B ไม่สามารถโอนเงินให้กันโดยตรงได้เนื่องจากไม่ได้มีเครือข่ายทางการเงินต่อตรงขนาดนั้น แต่จำเป็นต้องใช้ตัวกลาง เช่น SWIFT หรือ เอเจนท์อื่น ๆ ที่สามารถเชื่อมต่อและส่งข้อมูลธุรกรรมถึงกันได้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบธุรกรรมและถ่ายโอนทรัพย์สิน ทั้งยังมีค่าธรรมเนียมแสนแพง
Ripple ได้เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสร้าง Ripple Protocol ที่ช่วยให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ค้นหาเส้นทางการโอนเงินที่สั้นที่สุดจากผู้ส่งและผู้รับ ทำให้ธนาคารต้นทางและปลายทางสามารถโอนสินทรัพย์ให้แก่กันได้อย่างรวดเร็วไม่ต่างจากการส่งอีเมลถึงกัน ทั้งยังมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำลงมากอีกด้วย
☆ ตัวอย่าง ☆
ธนาคาร A ในไทย ต้องการโอนเงินจำนวนหนึ่งไปยังธนาคารปลายทาง B ที่ประเทศญี่ปุ่น Rippel net จะทำการคำนวณเส้นทางการทำธุรกรรที่สั้นที่สุดเพื่อส่งธุรกรรมข้ามประเทศ ซึ่งหากหาพบก็จะเกิดธุรกรรมและการโอนเงินขึ้นทันทีผ่านเครือข่ายธนาคารปกติ
แต่หากไม่พบเส้นทางการโอนเงินที่สั้นที่สุดนั้น ข้อมูลธุรกรรมจะถูกส่งมายัง XRP Ledger เพื่อสร้างเส้นทางธุรกรรมขึ้นใหม่ผ่านเครือข่ายของตัวเอง โดยสินทรัพย์ที่ต้นทางจะถูกเปลี่ยนเป็น XRP โดยอัตโนมัติตามมูลค่าที่ต้องการโอน หลังจากนั้น เหรียญ XRP ที่ถูกซื้อจะโอนไปสู่ธนาคารปลายทาง B ด้วยระยะเวลาแสนสั้นเพียง 3 -5 วินาที จากนั้นธนาคาร B จะแลกเหรียญ XRP กลับเป็นสินทรัพย์ที่ต้องการโอนไปยังปลายทางไปสู่ผู้รับอย่างปลอดภัยและรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี เวลาที่ผู้ใช้งานมีการสร้างธุรกรรมขึ้นมาในเครือข่าย Ripple net และมีการโอนสินทรัพย์ไปยังปลายทาง ระหว่างนั้นเครือข่ายจะหัก XRP บางส่วนออกมาเป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม โดยเรทค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมจะถูกกำหนดไว้ที่ 0.00001 XRP เมื่อคำนวณจากราคา XRP ปัจจุบันที่ $0.8 จะคิดเป็นตัวเงิน $0.000008 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราค่าธรรมเนียมที่น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่ธนาคารต่าง ๆ เรียกเก็บเมื่อมีการโอนเงินข้ามประเทศ
เห็นแบบนี้เราคงพอเดาได้ว่าเหรียญ Ripple นั้นมีความแตกต่างจากเหรียญคริปโตอื่น ๆ และยังมีจุดเด่นที่นักลงทุนควรจับตามองในหลายด้าน เช่น
► สามารถใช้ชำระเงินได้รวดเร็ว การทำธุรกรรมของ Ripple สามารถเกิดขึ้นได้ภายในเวลาเพียง 3 – 5 วินาที แม้จะเป็นการโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นความเร็วอันน่าเหลือเชื่อไม่ต่างจากการโอนเงินผ่านธนาคารออนไลน์ทั่ว ๆ ไป หรือหากเป็นการโอนผ่าน Bitcoin ก็ยังอาจต้องรอการยืนยันธุรกรรมเป็นชั่วโมง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดเด่นอย่างแรกของ Ripple ที่ไม่ควรมองข้าม
► มีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่ำมาก ต้นทุนในการทำธุรกรรมบนเครือข่าย Ripple คิดเป็นราว ๆ 0.00001 XRP ซึ่งหากแปลงเป็นเงินบาทแล้วก็ยังไม่ถึงหนึ่งบาทเต็มด้วยซ้ำ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำมาก ๆ จนคล้ายกับว่าไม่ได้มีการคิดค่าธรรมเนียมเสียด้วยซ้ำ
► เป็นเครือข่ายโอนเงินที่รองรับสินทรัพย์หลากหลาย นั่นคือ Ripple Net ไม่เพียงแค่รองรับการทำธุรกรรมโอนเงินด้วยสกุลเงินเฟียตเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้โอนทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ธนาคารทั่วไปไม่สามารถทำได้ด้วย เช่น สกุลเงินดิจิทัล หรือแม้แต่สินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ
► มีความน่าเชื่อถือสูง-ถูกใช้โดยสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลก Ripple เป็นพันธมิตรกับธนาคารและสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลกกว่าร้อยบริษัท ทำให้ Ripple มีเครือข่ายทางการเงินกว้างขวาง ทั้งยังแสดงถึงความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยในการใช้แพลตฟอร์มอีกด้วย
สำหรับ Ripple ก็ยังมีข้อเสียให้นักลงทุนได้คำนึงถึงความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน เช่น
► ค่อนข้างเป็นระบบที่รวมศูนย์ (Centralized) ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เหรียญคริปโตได้รับความนิยมสูงนั่นก็คือการเป็นระบบที่กระจายศูนย์ และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างฉันทามติและยืนยันธุรกรรม แต่สำหรับ Ripple แล้ว ระบบค่อนข้างมีความรวมศูนย์ และไม่ได้เปิดให้คนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมนัก เนื่องจากการยืนยันธุรกรรมและสร้างฉันทามติจะเกิดขึ้นจาก Trust Validator ที่ระบบให้การยอมรับเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเครือข่ายจากธนาคารและสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตร โดยไม่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานทั่วไป
► มีปริมาณเหรียญในระบบสูงมากตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งมีอยู่ถึง 100,000,000,000 XRP แม้เหรียญเหล่านี้จะไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ทั้งหมดตั้งแต่ต้น แต่มีการค่อย ๆ ทยอยนำออกมา แต่จำนวนเหรียญที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนี้ก็เป็นแรงกดดันราคาซื้อขายในตลาด เนื่องจากทุกคนต่างทราบดีว่าหากเหรียญ XRP ขาดตลาดหรือมีราคาสูงขึ้น ก็ยังมีเหรียญอีกเป็นจำนวนมากที่พร้อมจะเติมเข้ามาในระบบเพื่อกดดันราคาให้ต่ำลงได้
► หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง SEC ยังมีท่าทีต่อต้าน XRP Ripple ยังมีคดีความที่เกิดขึ้นจากการฟ้องร้องของคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์ของอเมริกา (SEC) ที่มองว่า เมื่อบริษัทตัดสินใจสร้างเหรียญ Ripple ออกมาก็ควรจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งที่ผ่านมา Ripple ไม่ได้ทำตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์นั้น ซึ่งระหว่างที่คดียังไม่เป็นที่ยุติ บริษัทต่าง ๆ ก็มักไม่ต้องการเข้ามาเสี่ยงกับเรื่องนี้จึงระงับการร่วมมือหรือการใช้งาน XRP ออกไป และอาจไม่ได้ส่งผลดีกับเหรียญนี้ในระยะยาว
การขุดเหรียญเป็นกระบวนการสำคัญของเครือข่ายเหรียญคริปโตทั่วไป ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นการกระจายอำนาจยืนยันการทำธุรกรรมให้กับสมาชิกในเครือข่าย ผลที่ได้ด้านหนึ่งคือเหรียญที่ถูกผลิตออกมาเป็นครั้งแรกและอีกด้านคือการบันทึกธุรกรรมลงในบล็อก ตัวอย่างเช่นการทำงานของเหรียญ Bitcoin ที่แรกเริ่มมีเหรียญหมุนเวียนในระบบไม่มาก แต่เหรียญจะค่อย ๆ ถูกขุดออกมาผ่านกระบวนการขุดเหรียญเพื่อยืนยันธุรกรรมและสร้างบล็อกลงในเครือข่าย จนกระทั่งสิ้นสุดเมื่อจำนวนเหรียญในระบบเพิ่มขึ้นถึงจุดอิ่มตัวสูงสุดที่ระบบกำหนดไว้ นั่นคือ 21 ล้านเหรียญบิทคอยน์
แต่สำหรับ Ripple นั้นมีกระบวนการสร้างเหรียญที่ต่างออกไป นั่นคือเหรียญทั้งหมดที่จะใช้ในเครือข่ายของ Ripple นั้นถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับเครือข่ายตั้งแต่แรกแล้วในจำนวนจำกัดที่ 1 แสนล้านเหรียญ Ripple ในช่วงเริ่มแรก เหรียญจำนวน 80% ของทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ในบัญชีบริษัทเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่ไม่ได้มีปริมาณเหรียญล้นเกินความต้องการจนเกิดเงินเฟ้อในระบบ หลังจากนั้นเมื่อมีการใช้งานเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เหรียญ Ripple จะค่อย ๆ ถูกปล่อยเข้ามาในระบบเพื่อสร้างสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการใช้งาน จนในปัจจุบันมีเหรียญออกมาหมุนเวียนในระบบแล้วกว่า 50% ของจำนวนเหรียญทั้งหมด
ดังนั้นสำหรับ Ripple แล้ว ขั้นตอนการขุดเหรียญนั้นจึงไม่มีความจำเป็น และไม่มีใครสามารถสร้างเหรียญ Ripple ขึ้นมาเพิ่มเติมได้ นักลงทุนจึงไม่สามารถขุด Ripple ได้เหมือนที่ขุด Bitcoin การเป็นเจ้าของเหรียญ Ripple จึงทำได้เพียงวิธีเดียวคือการซื้อหามาเท่านั้น
จากที่เราเล่ามาตั้งแต่ต้น หลายคนอาจพอเห็นภาพอยู่บ้างว่าแม้ Ripple จะเป็นเหรียญคริปโตเหมือนกับเหรียญคริปโตอื่น ๆ ในท้องตลาด แต่โดยรายละเอียดแล้ว Ripple ยังมีข้อที่แตกต่างจากเหรียญอื่น ๆ ในจุดใหญ่ ๆ อยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งก็สามารถเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ก่อตั้งเพื่อให้ตอบสนองต่อฟังก์ชั่นการใช้งานบางอย่างที่ถูกออกแบบมา เราจึงขอสรุปความแตกต่างของเหรียญ Ripple กับ Bitcoin ไว้อย่างง่าย ๆ ดังนี้
เป้าหมายการพัฒนาและสินทรัพย์ที่รองรับ
ในขณะที่ Bitcoin ถูกพัฒนาขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น ธนาคารออกไป เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีความเป็นส่วนตัว ปราศจากการแทรกแซงของตัวกลางในแบบที่มั่นใจได้ว่าธุรกรรมจะไม่ถูกระงับอย่างแน่นอน รวมทั้งมีความตั้งใจจะลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมและระยะเวลาที่เกิดขึ้นจากตัวกลางออกไปด้วย ทำให้ Bitcoin จะกลายมาเป็นเหรียญที่ผู้คนใช้เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างปลอดภัยโปร่งใสมากขึ้น โดยมีวิธีใช้คือเมื่อเกิดการโอนเงินผ่านเครือข่าย Bitcoin ผู้ส่งจะถูกหักเหรียญ Bitcoin ออกจากกระเป๋า และเหรียญนี้จะถูกส่งไปยังกระเป๋าของผู้รับในท้ายที่สุด
สำหรับ Ripple เครือข่ายของ Ripple net คือตัวกลางในการชำระราคาหรือถ่ายโอนสินทรัพย์ โดยมีจุดมุ่งหมายคือเข้ามาลดข้อจำกัดของการโอนย้ายสินทรัพย์ข้ามประเทศที่แต่เดิมมีค่าธรรมเนียมสูงและใช้เวลานานในการยืนยันธุรกรรม ดังนั้นเมื่อเกิดการโอนเงินผ่านเครือข่าย Ripple net สินทรัพย์ตั้งต้นสามารถเป็นได้ทั้งสกุลเงินเฟียต เหรียญดิจิทัล หรือแม้แต่ทองคำ และจะถูกเปลี่ยนเป็น Ripple ในระหว่างกระบวนการ เพื่อถูกเปลี่ยนกลับอีกครั้งเป็นสินทรัพย์ที่ต้องการเพื่อส่งไปถึงผู้รับ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสกุลเงิน หรือสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ทองคำ
วิธียืนยันธุรกรรมบนเครือข่าย
Bitcoin มีสถาปัตยกรรมที่ออกแบบให้ใครก็ตามที่ลงซอฟต์แวร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสามารถเข้ามามีส่วนในการขุดและยืนยันธุรกรรมบนเครือข่ายได้ ทำให้เครือข่ายของ Bitcoin มีลักษณะเป็นแบบกระจายศูนย์อำนาจ Decentralized ให้กับสมาชิก
ขณะที่อำนาจการยืนยันธุรกรรมบนเครือข่าย Ripple net จะจำกัดวงอยู่เฉพาะ Trusted Validator ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนไม่มากและมีลักษณะปิด ทำให้เครือข่ายของ Ripple ค่อนข้างมีลักษณะเป็นการรวมศูนย์อำนาจ (Centralized) มากกว่าสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ
การได้มาของเหรียญ
เหรียญ Bitcoin สามารถขุดได้ โดยเหรียญที่ขุดได้ส่วนหนึ่งจะกลายมาเป็นรางวัลสำหรับนักขุด ซึ่งถึงแม้ว่ากระบวนการนี้จะทำให้ได้เหรียญด้วยอัตราที่ลดน้อยถอยลงในทุกปีจนกระทั่งในระบบมีเหรียญครบ 21 ล้านเหรียญ แต่ในปัจจุบันการขุดเหรียญ Bitcoin ก็ยังเป็นไปได้
ส่วน XRP เป็นโทเค็นของ Ripple นั้นเป็นเหรียญที่ถูกสร้างไว้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว โดยมีจำนวนคงที่ที่ 1 แสนล้านเหรียญ XRP ทำให้ไม่มีใครสามารถสร้างหรือขุดเหรียญนี้ขึ้นมาได้ การได้มาของเหรียญจึงทำได้เพียงการใช้เงินซื้อหามาเท่านั้น
ความเร็วในการทำธุรกรรม จำนวนธุรกรรมต่อวินาที
โดยทฤษฎีแล้ว Bitcoin ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีในการยืนยัน 1 ธุรกรรมขึ้นอยู่กับค่าธรรมเนียม และมีจำนวนธุรกรรม 6 รายการต่อวินาที แต่ในปัจจุบัน Bitcoin ในเวลากว่าชั่วโมงในการประมวลผลธุรกรรม และประมวลผลธุรกรรมได้ราว 6 – 10 รายการต่อวินาที ซึ่งแสดงถึงการใช้งานที่ไม่สามารถเพิ่มได้มากนัก
ขณะที่ Ripple สามารถใช้เวลาในการยืนยันธุรกรรมเพียง 3 – 5 วินาที และประมวลผลได้กว่า 1,500 รายการต่อวินาที ซึ่งจะเห็นได้ว่าเครือข่ายของ Ripple สามารถรองรับธุรกรรมได้มากกว่าและเร็วกว่า Bitcoin
พอถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่า Ripple หรือ XRP คืออะไร ทำงานอย่างไร มีจุดเด่นและข้อเสียอย่างไร วิธีขุด Ripple เป็นอย่างไรและความแตกต่างระหว่าง Ripple กับ Bitcoin หากคุณผู้อ่านยังสงสัยอีกขั้นหนึ่งว่าจะสามารถลงทุนอย่างไร ก็ตามมาดูบทความถัดไปได้เลย >> Ripple (XRP) น่าลงทุนหรือไม่ในกระแสการเติบโตของสกุลเงินดิจิทัล
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยง: การซื้อขายอาจทำให้คุณสูญเสียเงินทุนทั้งหมด การซื้อขายอนุพันธ์แบบ OTC อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน โปรดพิจารณาเอกสาร PDS, FSG, คำชี้แจงการเปิดเผยความเสี่ยงและข้อตกลงลูกค้าก่อนใช้บริการของเรา และตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โปรดทราบว่าคุณไม่ได้เป็นเจ้าของหรือมีผลประโยชน์ใด ๆ ในสินทรัพย์อ้างอิง