Mitrade Insights ทุ่มเทเพื่อให้นักลงทุนได้รับข้อมูลทางการเงินที่ครบถ้วน ทันเวลา และมีคุณค่ามากที่สุด เพื่อช่วยให้นักลงทุนเข้าใจสถานการณ์ตลาดและคว้าโอกาสในการซื้อขายได้ทันท่วงที
    2021
    ผู้ให้บริการข่าวและการวิเคราะห์ที่ดีที่สุด
    FxDailyInfo
    2022
    แหล่งข้อมูลการศึกษา Forex ที่ดีที่สุดทั่วโลก
    International Business Magazine

    หุ้นบุริมสิทธิคือ อะไร แตกต่างจากหุ้นสามัญอย่างไร น่าลงทุนหรือไม่ในวันที่ราคาหุ้นสามัญไม่ไปไหน

    5 นาที
    อัพเดทครั้งล่าสุด 18 ก.ค. 2566 01:46 น.

    นักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะพอคุ้นเคยกับหุ้นสามัญ (Common Stock) กันมาบ้างแล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่าการลงทุนในหุ้นเพื่อให้ได้มีส่วนในความเป็นเจ้าของบริษัทและมีส่วนในผลกำไรรวมถึงเงินปันผลนั้น เราไม่จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นสามัญแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งหุ้นบุริมสิทธิก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงบ่อยและไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เข้าใจยาก และหากใครที่กำลังสงสัยอยู่ว่าบุริมสิทธิคืออะไร ลงทุนแล้วได้อะไร จะซื้อขายหุ้นบุริมสิทธิได้ทีไหน คราวนี้เราจะพาไปดูเรื่องนี้กัน

    1. หุ้นบุริมสิทธิ คืออะไร แตกต่างจากหุ้นสามัญอย่างไร

    Preferred Stock หุ้นบุริมสิทธิ คือ ตราสารทุน ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับหุ้นสามัญ (Common Stock) นั่นคือ ผู้ที่ถือหรืเป็นเจ้าของหุ้นบุริมสิทธิจะมีสถานะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการ ทำให้มีสิทธิในส่วนแบ่งรายได้จากการดำเนินกิจการ รวมถึงมีส่วนเป็นเจ้าของในทุนของบริษัทตามสัดส่วนที่ถือหุ้นไว้


    อย่างไรก็ดี หุ้นบุริมสิทธิก็ยังมีข้อแตกต่างจากหุ้นสามัญตรงที่

     

    ● ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะไม่มีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ต่างจากผู้ถือหุ้นสามัญที่มีสิทธิโหวตในที่ประชุมอย่างเต็มที่


    ● เมื่อได้กำไรจากการดำเนินกิจการ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะมีสิทธิจะได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ โดยผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้เงินปันผลคงที่ ขณะที่ผู้ถือหุ้นสามัญมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะได้รับหรือไม่ได้รับเงินปันผลก็ได้ หรือได้มากกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิก็ได้ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ  


    ● หากมีการเลิกกิจการและต้องมีการชำระบัญชีโดยการขายทรัพย์สินของบริษัท จะมีการนำตัวเงินที่ได้ไปชำระหนี้สินและภาระค่าดำเนินกิจการก่อน จากนั้นหากมีเงินเหลือจึงแบ่งคืนให้กับผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหากยังมีเงินเหลือก็จะแบ่งกลับมายังผู้ถือหุ้นสามัญ ซึ่งเราจะพบว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะมีสิทธิรับชำระก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ


    ดังนั้น แม้ว่าการถือหุ้นบุริมสิทธินั้นจะไม่ได้ทำให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่ก็ยังทำให้ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิมีสิทธิในเงินปันผลและสินทรัพย์ของบริษัทก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบที่สุดของสินทรัพย์ตัวนี้

    2. ประเภทของหุ้นบุริมสิทธิ

    สำหรับหุ้นบุริมสิทธิที่เราได้กล่าวมาแล้วว่ามีจุดเด่นในแง่ที่ผู้ถือจะมีสิทธิในเงินปันผลและสินทรัพย์เรียกชำระก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ แต่เงื่อนไขของหุ้นบุริมสิทธิก็ยังสามารถแบ่งให้แตกต่างกันออกไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าเงื่อนไขของหุ้นบุริมสิทธิแต่ละประเภทก็จะกระทบกับประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับด้วย ดังนั้นเราจึงควรมาทำความรู้จักกับหุ้นบุริมสิทธิประเภทต่าง ๆ ที่มีให้เลือกอยู่ในตลาดด้วย ได้แก่


    ● หุ้นบุริมสิทธิแบบสะสมและไม่สะสมเงินปันผล 

    เนื่องจากผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิก็มีฐานะและสิทธิในเงินปันผลไม่ต่างจากผู้ถือหุ้นสามัญ แต่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธินั้นอาจมีเงื่อนไขว่าจะจ่ายเงินปันผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ซึ่งหากเป็นหุ้นบุริมสิทธิแบบไม่จ่ายเงินปันผลก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ถือหุ้นจะไม่ได้อะไรเลย เพราะมูลค่าส่วนนี้ก็จะสะสมพอกพูนขึ้นเป็นการสะสมมูลค่าของกิจการในระยะยาวนั่นเอง 


    ● หุ้นบุริมสิทธิที่ไถ่ถอนคืนได้และไถ่ถอนคืนไม่ได้ 

    หุ้นบุริมสิทธิไม่มีการซื้อหุ้นคืนเหมือนหุ้นสามัญ แต่หากบริษัทต้องการเพิ่มสัดส่วนของผู้ถือหุ้นในระยะสั้น ก็อาจออกหุ้นบุริมสิทธิแบบไถ่ถอนคืนได้ เพื่อให้สามารถจำกัดสัดส่วนของผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามที่ต้องการ และบริษัทก็จะสามารถเรียกซื้อหุ้นบุริมสิทธิประเภทนี้คืนจากนักลงทุนได้ในอนาคต


    ● หุ้นบุริมสิทธิที่แปลงสภาพได้และแปลงสภาพไม่ได้ 

    หุ้นบุริมสิทธิบางชนิดมีการตราออกมาพร้อมข้อกำหนดให้ผู้ถือสามารถเลือกแปลงสภาพหุ้นบุริมสิทธิให้เป็นหุ้นสามัญที่ซื้อขายในตลาดได้เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด นักลงทุนที่ถืออยู่จึงมีตัวเลือกที่จะยังคงถือหุ้นบุริมสิทธิต่อไป หรือต้องการแปลงสภาพและเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ให้ออปชั่นมากยิ่งขึ้น


    ● หุ้นบุริมสิทธิที่ร่วมรับและไม่ร่วมรับเงินปันผล 

    เป็นหุ้นบุริมสิทธิที่ผู้ถือหุ้นจะมีสิทธิร่วมรับเงินปันผลในอัตราที่กำหนดไว้อย่างคงที่ได้ซึ่งนั่นคือหุ้นบุริมสิทธิแบบร่วมรับ หรืออีกรณีหนึ่งก็คือผู้ถือหุ้นจะไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามทที่กำหนดไว้ จะเรียกว่าเป็นหุ้นบุริมสิทธิแบบไม่ร่วมรับเงินปันผล

    3. การซื้อขายหุ้นบุริมสิทธิ

    การซื้อขายหุ้นบุริมสิทธินั้นคล้ายคลึงกับการซื้อขายหุ้นสามัญทั่วไป นั่นคือนักลงทุนสามารถซื้อในตลาดแรกจากบริษัทผู้ออกหุ้นบุริมสิทธิได้โดยตรง หลังจากนั้นก็สามารถนำมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นตลาดรองได้เป็นปกติ ผิดแต่เพียงว่าการซื้อขายหุ้นบุริมสิทธิในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีสภาพคล่องน้อยกว่าการซื้อขายหุ้นสามัญอยู่มาก


    ● การซื้อหุ้นบุริมสิทธิในตลาดแรก 

    นักลงทุนจำเป็นต้องติดตามข่าวการออกหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทต่าง ๆ และแสดงความจำนงเข้าลงทุนโดยชำระมูลค่าหุ้นตามราคาที่บริษัทเสนอขาย จากนั้นหุ้นจะถูกโอนมาในชื่อของผู้ทำการจองซื้อ โดยที่สามารถเก็บเป็นใบหุ้น ฝากแบบไร้ใบหุ้นในบัญชี 600 หรือโอนเข้าบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ต่อไปได้


    ● การซื้อหุ้นบุริมสิทธิในตลาดรอง 

    หากนักลงทุนไม่ได้ติดตามข่าวสารหรือต้องการซื้อขายหุ้นบุริมสิทธิในตลาดรองที่มีการซื้อขายกันอยู่แล้วก็สามารถใช้บัญชีซื้อขายหุ้นทำการซื้อขายและชำระราคาได้เหมือนการซื้อหุ้นสามัญทั่วไป โดยหุ้นบุริมสิทธิที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้นจะมีสัญลักษณ์เป็นชื่อหุ้นบริษัทนั้น ๆ ตามด้วยสัญลักษณ์ -P ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 8 ตัว นั่นคือ BH-P, CSC-P, JUTHA-P, KTB-P, SCB-P, TCAP-P, TISCO-P และ U-P


    ตัวอย่างเช่น KTB-P คือหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีปันผลจากกำไรสะสมโดยในปี 2564 มีการจ่ายปันผล 0.4295 บาท เทียบหุ้นสามัญ KTB จ่ายปีผลปีเดียวกัน 0.275 บาท, ปี 2563 มีการจ่ายปันผล 0.9075 บาท เทียบหุ้นสามัญ KTB ที่จ่ายปันผลปีเดียวกัน 0.753 บาท และในปี 2562 หุ้นบุริมสิทธิ KTB-P มีการจ่ายปันผล 0.8725 บาท เทียบหุ้นสามัญ KTB ที่จ่ายปันผล 0.718 บาท ซึ่งหากนักลงทุนมองว่าไม่ได้ต้องการมีสิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้น แต่เน้นการรับกระแสเงินสดจากเงินปันผลที่มากกว่า การเลือกถือหุ้นบุริมสิทธิในหุ้นธนาคารกรุงไทยจึงอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการถือหุ้นสามัญ


    ในทางกลับกันหากนักลงทุนต้องการขายหุ้นบุริมสิทธิออกไปก่อนถึงกำหนดขายคืนให้กับบริษัทก็จำเป็นต้องนำมาขายในตลาดรอง ซึ่งข้อเสียคือการซื้อขายหุ้นบุริมสิทธิในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีสภาพคล่องต่ำมาก ทำให้อาจขายออกไปในราคาที่ไม่ดีนัก ดังนั้นการตัดสินใจซื้อหุ้นบุริมสิทธิเพื่อการลงทุนจึงควรวางแผนการลงทุนในระยาวให้รอบคอบยิ่งกว่าการซื้อขายหุ้นสามัญทั่วไป


    และทั้งหมดนี้ก็คือการตอบคำถามว่าหุ้นบุริมสิทธิคืออะไร สินทรัพย์ตัวนี้แม้เราไม่ค่อยพูดถึงกันบ่อยนัก แต่ก็มีความสำคัญและเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว ชื่นชอบความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ยังต้องการการเติบโตจากเงินลงทุนในระดับสูง หุ้นบุริมสิทธิสามารถตอบโจทย์นั้นสำหรับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะมีสิทธิในสินทรัพย์และเงินปันผลได้ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญทั่วไป และในหลายครั้งก็ได้รับเงินปันผลมากกว่าผู้ถือหุ้นสามัญเสียอีก ซึ่งหากนักลงทุนไม่ได้ต้องการเป็นผู้ร่วมออกเสียงในการประชุมของบริษัทและไม่ได้ต้องการซื้อขายหุ้นบุริมสิทธิบ่อย ๆ การถือสินทรัพย์ชนิดนี้ไว้ก็เป็นตัวเลือกที่จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสำหรับการลงทุนให้คุณได้ในระยะยาว

    4. คำถามที่พบบ่อย

    ข้อดีของหุ้นบุริมสิทธิ คืออะไร?

    หุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นประเภทหนึ่งที่จะได้รับสิทธิบางอย่างที่แตกต่างจากหุ้นทั่วไป กล่าวคือ หุ้นบุริมสิทธิจะได้รับส่วนแบ่งเงินปันผลที่สูงกว่า และสามารถเคลมสินทรัพย์ได้มากกว่าในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ให้ต้องเลิกบริษัท นอกจากนี้หุ้นบุริมสิทยังมีสิทธิไถ่ถอนซึ่งหมายความว่า ผู้ออกหลักทรัพย์มีสิทธิที่จะไถ่ถอนหุ้นจากราคาและเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ในหลาย ๆ ด้านอาจกล่าวได้ว่าหุ้นบุริมสิทธิมีลักษณะเหมือนกับพันธบัตร และด้วยผลเหตุนี้บางครั้งจึงเรียกว่าตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน


    ใครซื้อหุ้นบุริมสิทธิ?

    หุ้นบุริมสิทธิมักจะมีความคงที่และมี Cashflow หรือ กระแสเงินสดจากกิจกรรมการเงินของบริษัทมากกว่าหุ้นทั่วไป ดังนั้น นักลงทุนที่กำลังมองหาการถือหุ้นแต่ไม่อยากให้พอร์ตฟอลิโอมีความเสี่ยงมากเกินไปจึงมักเลือกซื้อหุ้นบุริมสิทธิ นอกจากนี้หุ้นบุริมสิทธิยังได้รับแรงจูงทางภาษีที่ดีกว่า ดังนั้น จึงอาจดึงดูดใจนักลงทุนระดับสถาบันและบริษัทขนาดใหญ่ให้เข้ามาลงทุนเนื่องจากความได้เปรียบทางภาษี


    *** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา


    การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

    บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่?
    บทความที่เกี่ยวข้อง