หลังจากเราเข้าใจทำไมต้องวางแผนการเงินจากบทความก่อนหน้านี้แล้ว เรื่อง “การวางแผนการเงิน” เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกคนต้องใส่ใจ จากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ และวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจ และเห็นภาพเรื่องของการ “การวางแผนการเงิน” ชัดเจนมากขึ้น หลายคนก็เจอผลกระทบในช่วงนี้เช่นกัน
มาลองทบทวน 10 วิธีวางแผนการเงินด้วยกัน จะทำให้เพื่อนๆ มีแผนการเงินที่ดีและ พร้อมต่อสู้กับทุกช่วงวิกฤตในชีวิตได้เลยนะครับ
90% ของวัยเริ่มต้นทำงานจะติดปัญหา “ใช้จ่ายเดือนชนเดือนไม่มีเงินเหลือเก็บ” ลองฝึกวินัย จดบันทึกรายรับ รายจ่าย รายวันดู จะทำให้รู้นิสัยการใช้จ่ายว่าอันไหน จ่ายจำเป็น อันไหนจ่ายฟุ่มเฟือย ลองจดดูนะครับมันช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ได้จริงๆ และเดี๋ยวนี้มีแอปการเงินจดรายรับ รายจ่าย ได้ง่ายและสะดวกด้วย จะทำให้คิดก่อนใช้จ่ายทุกครั้ง และลองทำเป็นงบรายรับ รายจ่ายทั้งปีดูด้วยนะ จะดูว่าทั้งปีเราจะเหลือเงินกี่บาท จะไปวางแผนทำอะไรได้อีก ลองทำดูครับสัก 7 วันขึ้นไป จะติดเป็นนิสัยแน่นอน
บางคนทำงานมาหลายปี “สินทรัพย์ไม่มี หนี้สินมีเพียบ” ไปตรวจแต่สุขภาพร่างกายประจำปี แต่ไม่เคยตรวจสุขภาพการเงินเลยว่าปัจจุบันเรามีสภาพคล่องพอไหม? มีหนี้สินเกินตัวหรือปล่าว? การออมเงินของเราดีหรือยัง? ทำงานมาตั้งนานแล้วสินทรัพย์ตัวเองมีอะไรบ้าง? ลองบันทึกสินทรัพย์ที่คุณมีทั้งหมด (เช่น เงินในบัญชี เงินลงทุน มูลค่าบ้าน รถ ของสะสมส่วนตัวที่มีต่างๆ และของแบรนด์เนมที่ใช้ เป็นต้น) และหนี้สินทั้งหมด (เช่น มูลค่าหนี้คงค้าง บ้าน รถ บัตรเครดิต หนี้นอกระบบ หนี้ค้างต่างๆ เป็นต้น) จะทำให้รู้ว่าทำงานมาหลายปีแล้วเรามีความมั่งคั่งที่แท้จริงเท่าไหร่? จากการคำนวณ สินทรัพย์รวม – หนี้สินรวม = ความมั่งคั่งสุทธิ (ความรวยที่แท้จริงของเรา ยิ่งบวกเยอะยิ่งดีนะครับ)
ถ้าคุณโชคร้าย วันศุกร์ไปทำงานปกติ แต่พอวันจันทร์ถูกออกจากงาน เลิกจ้างงานกระทันหัน รวมไปถึงเกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น ญาติพี่น้องเจ็บป่วย ต้องมีค่าใช้จ่ายใหญ่ๆ กระทันหัน รายได้หายไป แต่รายจ่ายยังคงอยู่ เราควรเตรียมเงินไว้อย่างน้อย 3 -6 เท่าของรายจ่ายจำเป็น จะทำให้เป็นจุดปลอดภัยแรกๆของชีวิต เงินฉุกเฉินควรเก็บไว้ที่ปลอดภัย สภาพคล่องสูง ถอนเป็นเงินสดได้ทันทีเลย ตามที่ต้องการและมีความเสียงต่ำ อย่างเช่น กองทุนรวมตลาดเงิน หรือบัญชีเงินฝากปกติ
หลายคนละเลยตรงนี้ไปให้ความสำคัญกับการประกันทรัพย์สิน อย่างบ้าน รถ มากกว่าประกันตัวเอง อย่างประกันชีวิตและสุขภาพ ถ้าเกิดผู้นำครอบครัวเป็นอะไรขึ้นมา หรือเจ็บป่วยใหญ่ขึ้นมา ยิ่งอยู่ในยุค Covid-19 หลายครอบครัวต้องสูญเสียผู้นำครอบครัวไป หรือบางคนเจ็บป่วยหนัก ค่ารักษาพยาบาลสูงมากถ้าไม่ได้วางแผนมีทุนประกันชีวิต และสุขภาพเพียงพอ ถ้าเราต้องนอนรักษารพ.นานๆ ไม่เพียงแต่รายได้หายไป รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงมาก อาจทำให้ครอบครัวเกิดวิกฤตทางการเงินได้เลย อย่าลืมวางแผนปกป้องรักษาเงินที่หามาได้ด้วยนะ ด้วยการวางแผนประกันชีวิตและประกันสุขภาพ
บางคนไม่รู้จะเก็บเงินเพื่ออะไร ไม่มีเป้าหมายในชีวิตจะทำให้การเก็บเงินของเรา ล่องลอย ไร้จุดหมาย ลองตั้งเป้าหมายดูจะทำให้เราเก็บเงินอย่างมีเป้าหมาย และรู้ว่าต้องเก็บเงินเพื่ออะไร และควรจะเก็บไว้ที่ไหนดี? เก็บกี่ปีดี? บนผลตอบแทนคาดหวังเท่าไหร่ดี? และเลือกสินค้าการเงินมาอยู่ในเป้าหมายการเงิน
อย่างเช่น วางแผนเก็บเงิน วางแผนเพื่อซื้อสินทรัพย์ บ้าน รถ ไปเที่ยว แต่งงาน และอย่าลืมวางแผนสำคัญที่คนส่วนใหญ่ละเลย อย่างวางแผนเกษียณ วางแผนภาษี และวางแผนประกันด้วยนะ อาจจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมทำให้ประหยัดภาษี เสียภาษีลดลง และมีเงินเก็บเพื่อเกษียณในอนาคตด้วยนะ
พอเงินเดือนออกปุ๊บ เปลี่ยนจากรายรับ – รายจ่าย = เงินเก็บ เป็น รายรับ – เงินเก็บ = รายจ่าย
จะทำให้อย่างน้อย ควบคุมรายจ่ายได้ ถ้ารอสิ้นเดือนค่อยเก็บไม่เหลือแน่นอน ตามหลักวางแผนการเงินที่ดี ควรเริ่มเก็บ อย่างน้อย 10% ของรายได้ แต่ถ้าได้มากกว่านี้จะดีมากๆ เก็บได้มากกว่านี้ชีวิตดีๆ หลังจากนี้จะตามมาอย่างแน่นอนครับ และปัญหาของวัยทำงานหลายคนส่วนใหญ่พอเริ่มทำงานปุ๊บแล้วของมันต้องมี อย่างคอนโด บ้านหรือรถ รวมไปถึงของแบรนเนมด์ต่างๆ เลยใช้วิธีก่อหนี้ เพื่อสร้างสินทรัพย์ให้เร็วที่สุดโดยลืมคำนึงหลักการวางแผนการเงินที่เหมาะสม การผ่อนหนี้สินต่างๆ ที่ดี ไม่ควรเกิน 45% ของรายได้ คือ ง่ายๆ มีรายได้ต่อเดือน 20,000 บาท ไม่ควรผ่อนหนี้ทุกอย่างเกิน 9,000 บาท ไม่งั้นชีวิตจะลำบากในอนาคตอย่างแน่นอน
ช่วง Covid-19 หลายคนต้องตกงาน หลายคนอาจรอสัมภาษณ์งาน ถ้าเรามีรายได้มากกว่า 1 ทาง และใช้ความเก่ง ความชอบตัวเองหารายได้อีกทางเพิ่มจะทำให้เราอยู่รอดได้ เพราะหลายคนไม่สามารถลดรายจ่ายได้ เราต้องควรใช้เวลาว่างที่มีหารายได้เพิ่มอีกทาง สู้ๆครับ การมีรายได้มากกว่า 1 ทางคือทางรอดนะครับ ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป ยิ่งยุควิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ ผมเป็นกำลังใจให้ครับ
นำเงินที่เราเหลือไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสม ตามแต่ละสถานการณ์ และตามความเข้าใจเรื่องสินค้าทางการเงิน ทั้งผลตอบแทน และความเสี่ยง ปัจจัยอะไรทำให้ราคามีความผันผวน ปัจจุบันมีบทวิเคราะห์จากบริษัท ลงทุนชั้นนำของประเทศที่จะวิเคราะห์และแนะนำ ว่าช่วงนี้ควรลงทุนอะไร และไม่ควรลงทุนอะไร ถ้าเราลงทุนถูกจังหวะที่เหมาะสมในระยะยาว จะทำให้ได้ผลตอบแทนได้ดีมากขึ้น ถ้าลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวม จะได้ผลตอบแทนในรูปของ เงินปันผล และส่วนต่างราคา (ซื้อถูกขาย แพง) แต่ต้องรับความเสี่ยงได้นะ และต้องจัดพอร์ตการลงทุนที่ดี แต่ถ้าต้องการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่แน่นอน อาจจะลงทุนผ่านหุ้นกู้ จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยและเงินต้นคืนที่แน่นอน รวมไปถึงหุ้นปันผล หรืออสังหาริมทรัพย์ ที่ได้ค่าเช่าที่แน่นอน
เดี๋ยวนี้มีความรู้การวางแผนการเงิน และการลงทุนให้เรียนฟรี แถมบ้างที่มีประกาศนียบัตรให้ด้วย ในเว็บไซต์ เพจการเงินการลงทุนต่างๆ Youtube และ Podcast อย่าง SET Education และอื่นๆ อยากรู้อะไรก็เรียนเรื่องที่เราสนใจได้เลย ลองหาเวลาว่างอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1-3 ชั่วโมงมาเรียนรู้ดู จะทำให้มีความสุขกับการลงทุนและการวางแผนการเงินมากขึ้น อย่างเพื่อนๆ อาจบทความนี้ก็ได้รับความรู้ทางการเงินไปเติมเต็มและใช้ในชีวิตจริงได้เลย
สุดท้าย รู้อะไร ไม่สู้เท่ารู้งี้ รู้อย่างนี้เริ่มเก็บเงิน และวางแผนการเงินเป็นระบบตั้งนานแล้ว แเพื่อนๆ ลองไล่ทำตามขั้นตอนที่ผมแนะนำไปได้เลยครับ ตั้งแต่ทำงบการเงิน มีเงินสำรองฉุกเฉิน ไม่ก่อหนี้เกินตัว และเก็บเงินลงทุน โดยไปเปิดพอร์ตการลงทุน ที่อยากเริ่มเก็บเงิน แล้วค่อยๆ หมั่นศึกษาเพิ่มเติมความรู้ไปเรื่อยๆ เพื่อนจะมีแผนการเงินที่พร้อมชน ทุกๆ วิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอนครับ
*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา
การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยง: การซื้อขายอาจทำให้คุณสูญเสียเงินทุนทั้งหมด การซื้อขายอนุพันธ์แบบ OTC อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน โปรดพิจารณาเอกสาร PDS, FSG, คำชี้แจงการเปิดเผยความเสี่ยงและข้อตกลงลูกค้าก่อนใช้บริการของเรา และตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โปรดทราบว่าคุณไม่ได้เป็นเจ้าของหรือมีผลประโยชน์ใด ๆ ในสินทรัพย์อ้างอิง