Mitrade Insights ทุ่มเทเพื่อให้นักลงทุนได้รับข้อมูลทางการเงินที่ครบถ้วน ทันเวลา และมีคุณค่ามากที่สุด เพื่อช่วยให้นักลงทุนเข้าใจสถานการณ์ตลาดและคว้าโอกาสในการซื้อขายได้ทันท่วงที
    2021
    ผู้ให้บริการข่าวและการวิเคราะห์ที่ดีที่สุด
    FxDailyInfo
    2022
    แหล่งข้อมูลการศึกษา Forex ที่ดีที่สุดทั่วโลก
    International Business Magazine

    Blockchain(บล็อกเชน)คืออะไร?

    5 นาที
    อัพเดทครั้งล่าสุด 08 พ.ค. 2566 08:53 น.

    Blockchain(บล็อกเชน) น่าจะเป็นชื่อที่นักลงทุนสายคริปโตคุ้นเคยกันดี แต่ Blockchain(บล็อกเชน) คืออะไร ทำงานอย่างไร มีความได้เปรียบและจุดอ่อนอย่างไร ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Blockchain มีอะไรบ้าง คราวนี้เราจะตามไปดูกัน

    Blockchain (บล็อกเชน) คืออะไร

    Blockchain นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถทำการส่งข้อมูลโดยไม่ต้องอาศัยคนกลางด้วยความปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือสูง


    หลาย ๆ ครั้งที่เราได้ยินคำนี้ แต่สำหรับตัว Blockchain แล้วมันคือบล็อก(Block) ที่เก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้ แต่ละบล็อกจะเรียงร้อยเชื่อมต่อกันเป็นสายยาว(Chain) อย่างมีลำดับเฉพาะเจาะจงจนกลายเป็นเครือข่ายข้อมูลบล็อกที่นำมาเรียงต่อกันเหมือนกับชื่อที่เราเรียก Blockchain

    Blockchain(บล็อกเชน) ทำงานอย่างไร

    Blockchain มีคุณสมบัติที่น่าสนใจคือ Blockchain จะถูกแทรกแซง ถูกปรับเปลี่ยน หรือโดนแฮ็กข้อมูลในเครือข่ายเป็นไปได้ยากมาก ด้วยกระบวนการทำงานของบล็อกเชนที่ค่อนข้างซับซ้อน และเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ จึงทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ได้ยากขึ้นนั่นเอง สำหรับการทำงานของ Blockchain สามารถแบ่งออกมาเป็น 3 ข้อใหญ่ๆ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


    1.รหัสแฮช

    อย่างแรก แต่ละบล็อกที่สร้างขึ้นจะมีรหัสประจำบล็อกที่เรียกว่ารหัสแฮช ซึ่ง Blockchain ประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ

     

    ส่วนประกอบของ Blockchain


    1)ข้อมูล (Data) ที่เก็บรักษาอยู่ในแต่ละบล็อก เช่น Blockchain ของ Bitcoin จะเก็บข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผู้ส่ง ผู้รับ และจำนวนเหรียญที่โอน


    2)รหัสแฮช (Hash) ซึ่งเป็นรหัสบ่งบอกตัวบล็อกเป็นการเฉพาะ โดยที่จะไม่มีการซ้ำกันเหมือนลายนิ้วมือหรือเลขบัตรประชาชนของเรา หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในบล็อก รหัสแฮชก็จะถูกเปลี่ยนตามไปด้วย และถ้าลายนิ้วมือของบล็อกเปลี่ยนไป มันก็ไม่ใช่บล็อกเดิมอีกต่อไป


    3)รหัสแฮชของบล็อกก่อนหน้า (Previous Hash)


    แต่ละบล็อกจะร้อยเรียงต่อกันด้วยข้อมูลเหล่านี้ 


    ตอนนี้เราขอยกตัวอย่างการทำงานของ Blockchain ของ Bitcoin เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น


    ที่นี่มีบล็อก 3 บล็อก


    ตัวอย่างการทำงานของ Blockchain


     ● บล็อกที่ 1 มีรหัสแฮช A24 บรรจุข้อมูล 5 BTC จากคุณกอล์ฟ โอนให้คุณปู โดยมีรหัสบล็อกก่อนหน้า 000

     ● บล็อกที่ 2 มีรหัสแฮช 12B บรรจุข้อมูล 3 BTC จากคุณปู โอนให้คุณมาลี โดยมีรหัสบล็อกก่อนหน้า A24 

     ● บล็อกที่ 3 มีรหัสแฮช 5C3 บรรจุขอ้มูล 2 BTC จากคุณมาลี โอนให้คุณฟ้า โดยมีรหัสบล็อกก่อนหน้า 12B 


    ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการเก็บข้อมูลของเครือข่ายนี้จะมีการเรียงเป็นลำดับ เชื่อมร้อยเข้าหากันด้วยรหัสแฮช จนกลายเป็นเครือข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ และข้อมูลชุดนี้จะถูกเก็บอยู่ในทุก ๆ บล็อกที่เกิดขึ้นใหม่ด้วย การเข้าไปวุ่นวายกับข้อมูลในบล็อกจะทำให้รหัสแฮชเปลี่ยนซึ่งจะส่งผลต่อการยืนยันบล็อกถัดไป ส่งผลให้บล็อกทีเหลือในสายจะไม่สามารถยืนยันได้และกลายเป็นโมฆะใช้ไม่ได้โดยทันที


    2.ระบบฉันทามติ (Consensus)

    นอกจากนี้ Blockchain ยังมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ก้าวไปอีกขั้นด้วยการนำระบบฉันทามติ (Consensus) เข้ามาใช้ เช่น สำหรับ Bitcoin มีการใช้ระบบฉันทามติ Proof-of-Work (PoW) ที่จะให้เวลาราว ๆ 10 นาทีในการแก้รหัสและสร้างบล็อกใหม่ขึ้นมา ซึ่งหากมีใครอยากแฮ็กระบบนี้ใช่วงนี้ก็ต้องเข้าไปเปลี่ยนรหัสแฮชในบล็อกอื่น ๆ ในสายเชนทั้งหมดก่อนที่บล็อกใหม่จะเพิ่มเข้ามา ซึ่งจำนวนบล็อกในสายเชนของ Bitcoin ก็มีเป็นร้อยเป็นพันบล็อก วิธีแฮ็กแบบนี้จึงเป็นไปได้ยากมาก


    ระบบฉันทามติ Proof-of-Work (PoW)


    3.เครือข่าย Peer-to-Peer (P2P) 

    กลไกสุดท้ายที่ช่วยให้ Blockchain มีความเสถียรและถูกแทรกแซงได้ยากนั่นก็คือ Blockchain ไม่มีตัวกลางที่มีอำนาจในการจัดการระบบเครือข่าย แต่มีการใช้เครือข่าย Peer-to-Peer (P2P) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ในเครือข่ายเป็นผู้ตรวจสอบกันเอง กล่าวคือเมื่อผู้ใช้ทำการลงโปรแกรมเข้ามาใช้งาน Blockchain ก็จะมีสถานะเป็นโหนด (Node) 


    โหนดเหล่านี้จะเป็นผู้เก็บรักษาข้อมูลของ Blockchain ทั้งหมด ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้นในระบบด้วย ซึ่งหากมีใครต้องการควบคุม Blockchain นี้ก็สามารถทำได้ด้วยการควบคุมโหนดในจำนวนที่มากพอที่จะสร้างฉันทามติที่ต้องการขึ้นมาได้ แต่การเข้าควบคุมโหนดจำนวนมากพอในเวลาอันสั้นก็นับเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากจนแทบไม่มีโอกาสเลย


    และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการสร้างบล็อกใหม่ขึ้นในเครือข่าย


    การสร้างบล็อกใหม่ขึ้นในเครือข่าย Peer-to-Peer (P2P)


    1) บล็อกใหม่จะถูกส่งไปยังทุกโหนดหรือผู้ใช้ทุกคนในเครือข่าย

    2) แต่ละโหนดทำการยืนยันบล็อกใหม่และตรวจสอบให้มั่นใจว่าข้อมูลในบล็อกนั้นไม่มีการแทรกแซง

    3) เมื่อทุกโหนดตรวจสอบและยืนยันเรียบร้อยก็จะเก็บบล็อกใหม่นั้นเข้าไปเป็นบล็อกหนึ่งในสายบล็อกเชนของตัวเอง


    ทุกโหนดในกระบวนการนี้จะเป็นผู้สร้างฉันทามติ และเป็นผู้ให้การเห็นชอบร่วมกันว่าบล็อกไหนถูกต้องใช้ได้หรือบล็อกไหนผิดพลาดใช้ไม่ได้ และจะปฏิเสธบล็อกที่มีการเข้าไปแทรกแซงข้อมูลให้ผิดไป



    ซึ่งสรุปได้ว่า การตั้งใจจะเข้าไปแทรกแซงข้อมูลในบล็อกเชนให้สำเร็จนั้นจำเป็นต้องเข้าไปเปลี่ยนข้อมูลของบล็อกทั้งหมดในสาย ย้อนกระบวนการ Proof-of-Work ของแต่ละบล็อก แล้วเข้าควบคุมเครือข่าย Peer-to-Peer นั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

    จุดแข็งและจุดอ่อนของเทคโนโลยี Blockchain

    ด้วยการออกแบบเทคโนโลยีการเข้ารหัสที่มีความปลอดภัยสูงนี้ ทำให้ Blockchain มีจุดแข็งที่สร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกันก็ยังมีจุดอ่อนที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้


    จุดแข็งของเทคโนโลยี Blockchain

     ●  มีความปลอดภัยสูงขึ้นอีกระดับ

     เทคโนโลยี Blockchain มีการปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยของระบบที่ดีขึ้นกว่าเทคโนโลยีเก็บรักษาข้อมูลในยุคก่อน โดยหากข้อมูลถูกเข้ารหัสและเก็บรักษาไว้ในบล็อกแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ทำการลบข้อมูล หรือทำการแก้ไขข้อมูลได้อีกเลย


     ●  มีความโปร่งใส

     เครือข่าย Blockchain ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเครือข่ายที่กระจายศูนย์ โดยไม่มีผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งสามารถกำกับควบคุมระบบได้ ทำให้ระบบนี้มีความโปร่งใสสูง สามารถตรวจสอบได้


     ●  ช่วยลดต้นทุน

     เนื่องจากเป็นระบบที่ไม่มีตัวกลาง การใช้งาน Blockchain จึงไม่จำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับตัวกลางแต่อย่างใด ยังคงมีเพียงต้นทุนค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มเท่านั้น ที่ราคาจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับปริมาณการรองรับธุรกรรมที่ระบบรับได้ (Scalability)


     ●  สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 

    ด้วยระบบที่ออกแบบมาให้สามารถตรวจสอบข้อมูลของบล็อกย้อนไปยังต้นสายได้ ทำให้การตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในเครือข่าย Blockchain

     

     ●  ประหยัดเวลาและให้ประสิทธิภาพสูง 

    Blockchain เป็นระบบที่ช่วยให้ประหยัดเวลาเพื่อให้ประสิทธิภาพในการจัดการข้อมูลได้สูงสุด โดยสามารถตัดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากมนุษย์ในการคำนวณของระบบออกไปได้ทั้งหมด เนื่องจากทั้งการเก็บข้อมูลและประมวลผลสามารถทำได้บนแพลตฟอร์มเดียวโดยไม่ต้องอาศัยแรงงานคน ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงและรวดเร็ว


    จุดอ่อนของเทคโนโลยี Blockchain

     ●  ไม่สามารถรองรับการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากได้ 

    อย่างไรก็ตามระบบบล็อกเชนของเจ้าต่าง ๆ ในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการรองรับขนาดการใช้งานที่สูงขึ้น (Scalability) อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยียังคงมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องในอนาคฅ ปัญหาในข้อนี้อาจจะสามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน


     ●  ในทางทฤษฎีระบบนี้สามารถถูกแฮ็กได้ 

    ยังมีคนกล่าว่าในทางทฤษฎีบล็อกเชนสามารถถูกแฮ็กได้ เช่น การแฮ็ก Bitcoin ที่ในทางทฤษฎีหากสามารถควบคุมผู้ใช้เกินกว่า 51% ได้ก็จะสามารถควบคุมระบบได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังต้องบอกว่าวิธีการนี้แม้เป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปได้ยากมากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย


     ●  ใช้พลังงานสูง 

    เนื่องจากการออกแบบระบบให้อ้างอิงกับการโค้ดดิ้งและมีการประมวลผลสูง ทำให้ Blockchain เป็นระบบที่กินไฟ และจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในการขับเคลื่อนระบบอย่างสำคัญ


     ●  ยังไม่มีสถานะที่ถูกกำกับดูแลอย่างจริงจัง 

    จนถึงปัจจุบันที่ Blockchain ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ Blockchain ก็ยังไม่มีสถานะการถูกตรวจสอบหรือวางกฎระเบียบจากองค์กรใด ซึ่งแน่นอนว่า Blockchain ถูกสร้างขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบขององค์กรเก่า ๆ อย่างเช่น ธนาคาร หน่วยงานราชการ รวมถึงสถาบันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้บริการธุรกรรม และองค์กรเหล่านี้ย่อมไม่ต้องการให้เทคโนโลยีนี้ได้ถูกรับรองและนำมาใช้อย่างแพร่หลาย

    ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Blockchain

    จากจุดเด่นและข้อได้เปรียบของเทคโนโลยี Blockchain อย่างที่กล่าวไปแล้ว ทำให้ปัจจุบันเทคโนโลยีตัวนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น


    ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Blockchain


    ●  ธุรกิจการเงิน 

    เป็นธุรกิจแรก ๆ ที่นำ Blockchain มาประยุกต์ใช้ ซึ่งหากไม่นับรวมบรรดาสกุลเงินดิจิตทัลต่าง ๆ แล้ว ก็ยังมีโครงการอินทนนท์ของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยที่จะนำ Blockchain มาประยุกต์ใช้กับบาทดิจิทัล และคาดว่าจะเข้ามาแทนระบบบาทเน็ตที่ใช้ทำธุรกรรมระหว่างธนาคารกันอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีโครงการ JFIN ของ JMART ที่นำมาใช้จัดทำข้อมูลลูกค้าและ Credit Score สำหรับระบบกู้ยืมเงินออนไลน์


    ●  ธุรกิจห่วงโซ่อุปทาน 

    บริษัท IBM ได้สร้างโปรเจกต์ Food Trust Blockchain ขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ โดยหวังว่าโครงการนี้จะมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจห่วงโซ่อุปทานอื่น ๆ ที่สามารถใส่ข้อมูลที่มาของพัสดุเพื่อให้ผู้รับสามารถตรวจสอบที่มาย้อนกลับไปได้อย่างแม่นยำและไม่สามารถปลอมแปลงได้


    ●  ระบบการโหวต 

    Blockchain สามารถนำมาใช้สร้างระบบโหวตที่มีประสิทธิภาพได้ ด้วยการที่ระบบนี้มีความสามารถป้องกันการโกงการโหวตได้ โดยที่การเข้าไปแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงผลนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ทั้งยังมีความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบกระบวนการโหวตได้ และสามารถลดต้นทุนการตรวจสอบที่จำเป็นต้องใช้กระบวนการที่มีคนจำนวนมากที่ต้องข้ามาร่วมตรวจสอบและคำนวณผลได้

    ถึงตรงนี้ เพื่อนทุกคนน่าจะเข้าใจแล้วว่า Blockchain (บล็อกเชน) คืออะไร ทำงานอย่างไร มีความได้เปรียบและจุดอ่อนอย่างไร ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Blockchain มีอะไรบ้างแล้ว ยินดีตอนรับเข้าสู่โลกสกุลเงินดิจิตอลเลย 

    *** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา


    การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

    บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่?
    บทความที่เกี่ยวข้อง