เยี่ยมชม Mitradeเทรดกับ เว็บ Mitradeเทรดกับ แอพ Mitradeเทรดกับ แอพ Mitrade
สแกนเพื่อดาวน์โหลด
นโยบายกองบรรณาธิการเกี่ยวกับเรา
Mitrade Logoมุมมองการลงทุน

QE หรือ Quantitative Easing คืออะไร?

ผู้เขียน
|อัพเดทครั้งล่าสุด 24 มี.ค. 2566 08:21 น.
5820

ทุกสำนักเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าการแพร่ระบาดของโควิด19 จะนำมาซึ่งวิกฤต และทุกวิกฤตจะมีธนาคารกลางของแต่ละประเทศขี่ม้าขาวเข้ามากอบกู้และรักษาเสถียรภาพทางการเงินเอาไว้ โดยมีอาวุธเป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างการแทรกแซงอัตราดอกเบี้ย การชี้นำตลาด หรือ การเข้าซื้อ-ขายพันธบัตรรัฐบาล (Open-Market Operation) แต่ด้วยความซับซ้อนของระบบการเงินในปัจจุบันรวมถึงวิกฤตการเงินที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น มาตรการเดิม ๆ เริ่มใช้ไม่ได้ผลทำให้เกิดเครื่องมือใหม่เข้ามาแทนที่ และเครื่องมือที่เป็นที่กล่าวขวัญที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมาก็คงหนีไม่พ้น 


‘มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ’ หรือที่พูดกันติดปากว่า QE - Quantitative Easing ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินไปทั่วโลก แต่มาตรการนี้ก็ยังคงทิ้งคำถามคาใจนักลงทุนหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น QE หรือ Quantitative Easing คืออะไร? QE ทำงานอย่างไร? หรือแม้แต่การนำ QE มาใช้ส่งผลกระทบอะไรตามมาบ้าง? และคำถามสำคัญคือนักลงทุนจะรับมือกันอย่างไร? เหล่านี้คือสิ่งที่เราจะมาพูดคุยและหาคำตอบกัน

QE คืออะไร? มีกลไกการทำงานอย่างไร?

มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE (Quantitative Easing) คือมาตรการทางการเงินแบบพิเศษที่ธนาคารกลางทำการเพิ่มปริมาณเงินหรือสภาพคล่อง (Liquidity) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการเข้าซื้อตราสารทางการเงินระยะยาวเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบและกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ

 

การทำ QE ของธนาคารกลางจะแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบคือ

1) การเข้าซื้อสินทรัพย์จากธนาคารและวานิชธนกิจโดยตรงเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน ทำให้ธนาคารและวาณิชธนกิจไม่ต้องถือสินทรัพย์แต่มีเงินสดเพื่อขยายสินเชื่อให้คนไปลงทุนหมุนเวียนในระบบ นอกจากนี้การเข้าซื้อสินทรัพย์ระยะยาวเป็นจำนวนมากจะกดผลตอบแทนรวมถึงอัตราดอกเบี้ยลง เป็นผลให้ต้นทุนในการกู้ยืม (Cost of borrowing) ลดลง ฝั่งธุรกิจและผู้ประกอบการก็มีแรงจูงใจที่จะกู้เงินไปลงทุนมากขึ้น

 

2) ธนาคารกลางจะนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ในตลาดที่ต้องการดูแลโดยเฉพาะ เช่น การเข้าซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (Mortgage-Backed Security-MBS) เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในตลาด ทำให้การเทขายของนักลงทุนจะไม่กดให้ราคาต่ำลงอย่างรุนแรงจนทำให้โครงสร้างของตลาดเสียไป แต่การเข้าซื้อสินทรัพย์แบบนี้จะกดให้อัตราผลตอบแทนของตราสารอยู่ในระดับต่ำ เป็นการบิดผันตลาดให้นักลงทุนหันไปลงทุนกับสินทรัพย์ตัวอื่นทดแทนและทำให้ราคาสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอย่างอื่นปรับตัวสูงขึ้น ผู้คนมีความมั่งคั่งมากขึ้นเพื่อนำไปใช้จ่ายขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

จะเห็นได้ว่าทั้งสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการ QE นี้ก็เพื่อส่งต่อมาตรการทางการเงินให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้าและกลับมาเติบโตอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยทั้งสองจะวัดผลได้จากระดับอัตราเงินเฟ้อ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้การทำ QE ของหลายประเทศในช่วงหลังวิกฤตการเงินจะมีการตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อประกอบด้วยเสมอ (อ่านเพิ่มเติม เงินเฟ้อคืออะไร? )

15906578135754

พื้นฐานต่าง ประสบการณ์เดียว: ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกาต่างก็เคยใช้ QE มาแล้วทั้งนั้น

ด้วยกลไกการส่งผ่านสภาพคล่องจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทำให้ QE กลายมาเป็นทางเลือกที่ประเทศหนึ่ง ๆ นำมาใช้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อคาดหวังการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ และไม่ใช่แค่อเมริกาเท่านั้นที่นำมาตรการนี้มาใช้ฉุดดึงเศรษฐกิจของประเทศขึ้นจากวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในปี 2008 แต่ยังมีประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเช่น ญี่ปุ่น และ ยุโรป ที่เคยนำมาตรการนี้มาใช้ด้วยเหมือนกัน


●   ญี่ปุ่น 2001-2006 ความพยายามออกจากทศวรรษที่สูญหาย (Lost Decade)

ครึ่งหลังของการพัฒนาเศรษฐกิจหลังสงครามโลก ญี่ปุ่นเกิดฟองสบู่ขึ้นในตลาดอสังหาและตลาดหุ้นทำให้เศรษฐกิจของประเทศช่วงทศวรรษที่ 1990 เติบโตต่ำเพียง 1.5% จนเกิดเป็นทศวรรษแห่งความสูญหาย ความซบเซาของเศรษฐกิจยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยการก่อการร้ายในปี 2000 จนเกิดเป็นสงครามอิรัก รัฐบาลญี่ปุ่นใช้มาตรการทางการเงินแทบจะหมดหน้าตักแล้ว แม้จะกดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ใกล้ 0 คนญี่ปุ่นก็ยังคงเก็บออมเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณและใช้จ่ายน้อยมาก อย่างที่มีนักเศรษฐศาสตร์ให้นิยามเหตุการณ์นี้ไว้ว่าเป็นการเกิดกับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap)


ช่วงเดือนมีนาคม 2001 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จึงนำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE มาใช้เป็นครั้งแรกด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากธนาคาพานิชย์ เป็นการกดดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดต่ำลง ทั้งยังเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารเป็นจำนวนมาก ด้วยความคาดหวังให้เกิดเงินเฟ้อเพื่อหมุนวัฏจักรเศรษฐกิจให้เดินหน้าจนเกิดเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ BOJ กดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ใกล้ 0 ต่อเนื่องยาวนาน แต่ทั้งเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังทรงตัวอยู่ใกล้ 0 ไปจนตลอดจนถึงช่วงปลายปี 2005 การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงเริ่มปรับตัวขึ้น โดยทั้งปีโตได้ 2.8% โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายโตได้ถึง 5.5 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่เติบโตได้มากกว่ายุโรปและกลายเป็นว่าการบริโภคภายในประเทศกลายมาเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงนั้นได้ และความพยายามในการกดอัตราดอกเบี้ยต่ำใกล้ 0 ก็ได้ยุติลงในปี 2006 


●   อเมริกา 2008-2015 การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ (The Global Fiancial Cirsis)

หลังจากวิกฤตการเงินในปี 2008 ฉุดดึงเศรษฐกิจอเมริกาเข้าสู่ภาวะถดถอย เศรษฐกิจเติบโตติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่หลังสงครามโลก หากจะใช้นโยบายการคลังที่จะเข้าฟื้นฟูเศรษฐกิจก็อาศัยเวลา ด้านธนาคารกลางก็กดดอกเบี้ยนโยบายลงใกล้ 0 แล้วแต่ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องอาศัยมาตรการขนาดใหญ่เพียงพอที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พังจากวิกฤตการเงินให้กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE จึงถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง ในบริบทใหม่คือในเศรษฐกิจอเมริกา


วิกฤตการเงินระดับโลกเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ปี 2007 และปะทุออกมาในช่วงกลางปี 2008 ที่ความเสียหายในภาคการเงินที่เริ่มกระจายสู่ภาคเศรษฐกิจจริงผ่านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและราคาสินทรัพย์ ส่งผลให้จีดีพีทั้งปีของสหรัฐหดตัว -0.1% และอัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นถึง 7.2% ช่วงเดือนพฤศจิกาของปีนั้นธนาคารกลางสหรัฐจึงเริ่มนำ QE มาใช้โดยประกาศเข้าซื้อ MBS และตั๋วเงินคลังระยะสั้นในวงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์เพื่อลด Risk Premium ในตลาดอสังหาและเติมสภาพคล่องให้กับระบบ แต่แม้จะใช้วงเงินอัดฉีดถึง 6 แสนล้านผลที่ออกมาคือตัวเลขเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องนัก ตลาดหุ้นที่เคยทำจุดสูงสุดของปี 2008 ไว้ที่ 13,136 ยังคงทำจุดต่ำสุดเรื่อยมาจนถึงต้นปี 2009 ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปี -2.9% และตัวเลขการว่างงานยังคงทะยานขึ้นไม่หยุดจนไปพีคที่ 10% ในปี 2010 ในเดือนสิงหาคมปี 2010 ธนาคารกลางสหรัฐจึงกลับมาใช้การเพิ่มปริมาณเงินในระบบหรือ QE อีกครั้ง โดยใช้วงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2-10 ปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุลดลงทันที แต่ดูเหมือนปริมาณเงินจะไม่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเท่าที่ควร เงินเฟ้อยังคงระดับต่ำและการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง


ผ่านมาจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2010 เมื่อตัวเลขทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่คาดไว้ ธนาคารกลางสหรัฐจึงนำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเข้ามาใช้อีกครั้งในระลอกที่ 2 อย่างที่มักเรียกกันว่า QE2 ด้วยวงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลยาวไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2011


ช่วงระหว่างปี 2010-2012 ระดับการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐยังทรงตัวที่ 1-2% แต่ระดับการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงราว 9-10% ในเดือนกันยายน 2013 การส่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงถูกนำออกมาใช้อีกครั้งในรูปแบบของ QE3 มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งนี้ใช้วงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในการเข้าซื้อ MBS และ FED ก็ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยลงใกล้เคียง 0 ไปจนตลอดปี 2015 


การใช้ QE ในครั้งนี้เป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมากเพราะเฟดไม่ได้กำหนดเวลายุติมาตรการนี้ ซึ่งหมายถึงการซื้อพันธบัตรและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเดือนละ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ไปเรื่อย ๆ และปรับเพิ่มตัวเลขขึ้นมาเป็น 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในภายหลัง ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่เพียงแต่ในสหรัฐเท่านั้น แต่รวมถึงในประเทศอื่น ๆ ในโลกด้วย เนื่องจากการกดดอกเบี้ยในประเทศไว้ใกล้ 0 ทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องแสวงหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น (Searching for yield) และเงินดอลลาร์กลายเป็นค่าเงินที่นักลงทุนหลีกเลี่ยงและอ่อนค่าลงอย่างมีนัยยะ


มาตรการนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงสิ้นสุดเมื่อกลางปี 2013 ที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดในช่วงนั้นประกาศทำ QE tapering ปรับลดวงเงินทำ QE ลงจาก 8.5 เป็น 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และวางเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% และอัตราการว่างงานต่ำกว่า 6.5% เพื่อเป็น exit strategy ให้กับมาตรการนี้ และยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์เมื่อเดือนตุลาคม 2014 หลังจากที่เข้าซื้อสินทรัพย์ไปแล้วกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ


●   ญี่ปุ่น 2013-2014 ธนูสามดอกของอาเบะ  

วิกฤตการเงินในสหรัฐเมื่อปี 2008 ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ญี่ปุ่น ในปี 2013 นายชินโสะ อาเบะ ได้ประกาศแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3 ข้อ ที่เรียกกันว่า ธนู 3 ดอกของอาเบะ ได้แก่ การทำ QQE, การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของรัฐ, และการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ในบรรดามาตรการที่ประกาศออกมา การทำ QQE หรือ Quantitative and Qualitative Monetary Easing เป็นที่จับตามองของผู้คนทั่วโลก ด้วยมาตรการนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ได้เพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบปีละ 60-70 ล้านล้านเยน ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะ 7-40 ปี รวมถึงกองทุนรวมดัชนี-ETF และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ Real Estate Investment Trust (J-REIT) เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำ และตั้งเป้าหมายสร้างเงินเฟ้อให้ได้ 2% ภายใน 2 ปี และสิ่งที่ตามมาคือราคาสินทรัพย์เช่นหุ้นและอสังหาเกิดการปรับตัวขึ้นขนานใหญ่ และค่าเงินเยนกลับมาอ่อนตัวลงอีกครั้งด้วยจำนวนเม็ดเงินที่ใช้ใน QQE หากเทียบกับสหรัฐและอังกฤษแล้ว ญี่ปุ่นใช้วงเงินเยอะกว่าประเทศอื่นมาก คือถึงประมาณ 58% ของ GDP ทีเดียว 


●   ยุโรป 2015-2018

หลังวิกฤตการเงินระดับโลกในปี 2008 ยุโรปเป็นอีกกลุ่มประเทศที่ เจ็บหนัก จากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเชื่อมโยงกับภาคอสังหาในสหรัฐ ในช่วงมีนาคมของปี 2015 ECB (European Central Bank) ประกาศเข้าทำ QE ด้วยวงเงิน 3 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 4 ปี เพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาล รวมถึงหุ้นกู้และ ABS เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ระดับเงินเฟ้อต่ำเข้าใกล้ 0 ที่จะหมุนระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ Debt Crisis 


การทำ QE ของยุโรปไม่ได้ทำให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากช่วงเวลาที่ปล่อยมาตรการนี้ เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับที่สหรัฐหยุดทำ QE พอดี แต่มาตรการนี้ก็ช่วยให้เศรษฐกิจยุโรปขยายตัวขึ้นได้ ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น และมีการปล่อยกู้เพิ่มขึ้น แม้อัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ


●   โควิด-19 2020 กับ Unlimited QE ของอเมริกา

2020 เป็นอีกปีหนึ่งที่ประเทศต่าง ๆ ต้องเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง และว่ากันว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในคราวนี้จะรุนแรงที่สุดนับย้อนไปจนถึงเมื่อครั้งเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งยิ่งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงหลังสงครามโลกเลยทีเดียว และนับจนถึงตอนนี้มีการคาดการณ์กันว่าอัตราการว่างงานในสหรัฐปีนี้จะพุ่งสูงกว่า 15% ทีเดียว และนี่เป็นอีกครั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐรวมถึงธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศนำ QE ออกมาใช้อีกครั้ง


23 มีนาคม 2020 หลังจากที่รัฐบาลกลางสหรัฐออกมาประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหญ่ ธนาคารกลางสหรัฐเองก็ออกมาประกาศกาเรข้าทำ QE เพื่อป้องกันการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอย่างไม่จำกัดจำนวน จากเดิมที่ตั้งวงเงินไว้ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและ MBS เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับตลาด แต่ความเสียหายที่แท้จริงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนี้จะเกิดขึ้นที่ภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) จากห่วงโซ่อุปทานช็อคและกำลังแรงงานที่ล้มป่วยจนทำให้การผลิตหยุดชะงัก ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2008 ที่สาเหตุของวิกฤตเกิดขึ้นในภาคการเงิน เราจึงจำเป็นที่จะต้องติดตามว่าผลของมาตรการนี้จะช่วยเยียวยาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ตามที่คาดหวังหรือไม่ (อ่านเพิ่มเติม เศรษฐกิจอเมริกาท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ) แต่ไม่ว่ามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาผลของวิกฤตได้หรือไม่ก็แล้วแต่ ทว่าหลังจากการประกาศใช้ QE แบบไม่จำกัดจำนวนเช่นนี้เป็นผลทำให้ตลาดหุ้นหยุดการลงและรีบาวน์ขึ้นมาได้แทบจะในทันที


1590657946201

QE และผลลัพธ์ที่อาจไม่ได้คาดหวัง

QE เป็นมาตรการทางการเงินที่ไม่ปกตินัก เนื่องจากเป็นการบิดเบือนระบบการเงินปกติด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก ด้วยความคาดหวังที่จะชะลอความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ แต่มาตรการนี้ก็ยังคงมีข้อควรระวังในการใช้ เพราะมีผลข้างเคียงที่อาจไม่ได้คาดหวังพ่วงมาด้วย


1. ค่าเงินอ่อนค่า การอัดฉีดเงินเข้าระบบทำให้ปริมาณเงินมากขึ้น ค่าเงินอ่อนลง ต้นทุนในการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบสูงขึ้น หากเป็นประเทศที่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจะทำให้ราคาสินค้าทั่วไปแพงขึ้น เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น


2. เกิดการแสวงหาผลตอบแทนในการลงทุนจนอาจเกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ทั่วโลก ด้วยสภาพคล่องจำนวนมากที่อัดฉีดเข้ามาในระบบทำให้เกิดการปล่อยกู้หรือลงทุนที่เสี่ยงสูงกว่าปกติ และด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้เกิด searching for yeild ผลที่เกิดขึ้นเร็วกว่าคือราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลกจนน่าเป็นห่วงถึงเรื่อง Asset Bubble มีการรายงานที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ 


3. การเพิ่มปริมาณเงินในระบบอาจไม่ได้นำไปสู่การขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจจริง การทำ QE นำไปสู่การปรับตัวของสินทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งไม่ได้การันตีว่าความมั่งคั่งจะตกถึงมือคนรากหญ้าที่เป็นกลุ่มที่มีการเก็บออมน้อยและใช้จ่ายสูง นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แม้ธนาคารกลางจะอัดฉีดเงินเข้าระบบมาอย่างไร ก็ทำให้เกิดเงินเฟ้อได้ช้ากว่าที่คาดไว้ 


4. ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างกว่าที่เคย การสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือสินทรัพย์และการสะสมความมั่งคั่งของผู้ที่มีทุนรอนอยู่แล้วให้ยิ่งสะสมทุนมากขึ้นไปอีก ส่งผลให้อัตราความเหลื่อมล้ำในโลกแย่ลง ซึ่งจะไปถ่วงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและซ้ำเติมความยากลำบากในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป


รับมือ QE ระลอกใหม่ นักลงทุนควรเตรียมตัวอย่างไร?

การทำ QE เป็นการอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากผ่านธนาคารพานิชย์ ซึ่งมักมีผลหลัก ๆ ทำให้เกิดการขยายสินเชื่อและลงทุนเพิ่มมากขึ้น และโดยไม่คาดหมาย อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำก็มักทำให้เกิดการเก็งกำไรในสินทรัพย์อื่น เช่น ตลาดหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และค่าเงิน


จากรูปตลาดหุ้นอเมริกากับการทำ QE เราพอจะคาดเดาได้ว่าการพร้อมใจทำ QE ของธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศจะทำให้เม็ดเงินจำนวนหนึ่งไหลเข้าตลาดหุ้น แต่สภาพตลาดหุ้นในวันนี้แตกต่างจากเมื่อสิบปีก่อน เนื่องจากคราวนี้มาตรการ QE ถูกนำมาใช้ค่อนข้างเร็ว และตลาดหุ้นรวมถึงภาคธุรกิจยังคงประเมินความเสียหายของเศรษฐกิจได้ไม่ครบ การเข้าลงทุนในตลาดหุ้นในตอนนี้จึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง และหาจังหวะในการเข้าให้เหมาะสม


15906580388124


สินทรัพย์อีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจคือค่าเงิน เนื่องจากการอัดฉีดปริมาณเงินเข้ามาในระบบเป็นจำนวนมากจะส่งผลให้เงินอ่อนค่าลงโดยเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ นักลงทุนสามารถรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้โดยการใช้เครื่องมือตราสารอนุพันธ์ เช่น CFD ในการขายสกุลเงินที่ทำ QE และมีแนวโน้มอ่อนค่า และ Long ค่าเงินที่มีความเสถียรกว่าเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุน




ส่งท้าย

การทำ QE ของธนาคารกลางเป็นมาตรการที่ไม่ปกตินัก และส่งผลกระทบกับระบบการเงินทั่วโลก คราวนี้เราก็ได้มาดูกันแล้วว่า QE หรือ Quantitative Easing คืออะไร มีกลไกการทำงานอย่างไร และเราควรเตรียมรับมือกับ QE ระลอกใหม่ที่คาดว่าจะใหญ่กว่าเดิมนี้อย่างไร อนาคตของระบบการเงินท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 เป็นความท้าทายที่แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังคงคาดเดาผลลัพธ์ไม่ออก แต่การได้รับข้อมูลที่รอบด้านจะทำให้นักลงทุนสามารถพาพอร์ตให้รอดไปได้ พร้อมทำกำไรแม้ในภาวะวิกฤต ที่แน่นอนว่าคราวนี้ก็ต้องมีโอกาสแฝงอยู่เช่นกัน


*** ลงทุนมีความเสี่ยง ในการเทรด CFD ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของของสินทรัพย์อ้างอิงใดๆ และอาจไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกท่าน ซึ่งอาจส่งผลให้ท่านสูญเสียเงินลงทุนขั้นต้น เพื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นท่านควรพิจารณา เอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง ก่อนที่จะใช้บริการของเรา


การลงทุนมีความเสี่ยง เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

Mitrade
มุมมองการลงทุนเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูลทางด้านการเงินภายใต้ Mitrade ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักลงทุนได้รับความรู้พื้นฐานทางการเงินที่สมบูรณ์ สภาวะตลาดแบบเรียลไทม์ ข่าวที่เกี่ยวข้องในเวลาที่เหมาะสม และการวิเคราะห์ตลาดในเชิงลึก
Mitrade Logo
มุมมองการลงทุน
อำนวยเนื้อหาคอลัมน์ที่มีคุณภาพสูงแก่นักลงทุนทั่วโลก

คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยง: การซื้อขายอาจทำให้คุณสูญเสียเงินทุนทั้งหมด การซื้อขายอนุพันธ์แบบ OTC อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน โปรดพิจารณาเอกสาร PDS, FSG, คำชี้แจงการเปิดเผยความเสี่ยงและข้อตกลงลูกค้าก่อนใช้บริการของเรา และตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โปรดทราบว่าคุณไม่ได้เป็นเจ้าของหรือมีผลประโยชน์ใด ๆ ในสินทรัพย์อ้างอิง

ขยาย